วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2556


ใบความรู้ที่  1
เรื่องห้องสมุดและแหล่งการเรียนรู้

1.  ความหมายของห้องสมุด 
            คำว่า  “ห้องสมุด”  มีคำใช้อยู่หลายคำ  ในประเทศไทยสมัยก่อนเรียกว่า  “หอหนังสือ”  ห้องสมุดตรงกับภาษาอังกฤษว่า  Library  มาจากศัพท์ภาษาละตินว่า  Libraria  แปลว่าที่เก็บหนังสือ  
                ห้องสมุด  คือ  สถานที่รวบรวมสรรพวิทยาการต่างๆ  ซึ่งได้บันทึกไว้ในรูปของหนังสือ  วารสาร  ต้นฉบับตัวเขียน  สิ่งตีพิมพ์อื่น ๆ  หรือโสตทัศนวัสดุ  และมีการจัดอย่างมีระเบียบเพื่อบริการแก่ผู้ใช้  ในอันที่จะส่งเสริมการเรียนรู้และความจรรโลงใจตามความสนใจ  และความต้องการของ           แต่ละบุคคล  โดยมีบรรณารักษ์เป็นผู้จัดหา  และจัดเตรียมให้บริการแก่ผู้ใช้ห้องสมุด                
2.  ความสำคัญของห้องสมุด 
            ความสำคัญของห้องสมุด  การศึกษาไทยตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษามุ่งพัฒนาเยาวชนไทยให้  เก่ง  ดี  มีความสุขจากสังคมแห่งการเรียนรู้  ซึ่งเป็นสังคมคุณภาพที่สร้างคนให้ตระหนัก                  ถึงความสำคัญของการเรียนรู้  การสร้างนิสัยรักการอ่าน  และการแสวงหาแหล่งเรียนรู้  เพื่อนำความรู้ไปใช้ประโยชน์  ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร  (Information  Age)  ผู้ที่สนใจจะศึกษาค้นคว้าให้เป็นผู้รอบรู้ในวิทยาการ  เชี่ยวชาญในงานวิชาชีพ  และทันสมัยต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ  นั้น  จำเป็นต้องพึ่งพาห้องสมุดเป็นอย่างยิ่ง  ห้องสมุดเป็นปัจจัยสำคัญสิ่งหนึ่งที่จะบ่งชี้ถึงความมีมาตรฐาน        ด้านการศึกษาของสถาบันการศึกษาแห่งนั้น ๆ ความสำคัญของห้องสมุดในแต่ละสถาบันการศึกษานั้น  อาจสรุปได้ดังนี้
            2.1  ห้องสมุดเป็นแหล่งรวมทรัพยากรสารสนเทศต่าง ๆ  เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของสถาบันการศึกษาที่ผู้ใช้สามารถศึกษาค้นคว้าข้อมูลที่ต้องการได้ทุกสาขาวิชาที่มีการเรียนการสอนในสถานศึกษา  เพื่อให้ครูอาจารย์ผู้สอน  และนักเรียนนักศึกษาเข้าค้นคว้าหาความรู้  เป็นสื่อกลางในกระบวนการเรียนการสอน
            2.2  ห้องสมุดเป็นแหล่งที่ทุกคนสามารถเลือกศึกษาค้นคว้าได้โดยอิสระตามความสนใจของแต่ละบุคคล  เป็นแหล่งภูมิปัญญาของสังคม  อาจเป็นการค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อให้รอบรู้เข้าใจยิ่งขึ้นในเนื้อหาวิชา  หรือเรื่องที่กำลังศึกษาอยู่  หรือเลือกอ่านสิ่งที่ตนสนใจ  ซึ่งโรเจอร์  เบคอน  นักปราชญ์ชาวอังกฤษกล่าวไว้ว่า การอ่านทำให้เป็นคนเต็มคนก่อให้เกิดการศึกษาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง  ตอบสนองความต้องการในการแสวงหาความรู้เฉพาะบุคคล
            2.3  ห้องสมุดช่วยให้ผู้ใช้รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์  คนเรานั้นหากมีเวลาว่างก็ควรจะทำอะไรสักอย่างเพื่อให้คุ้มค่าเวลา  การใช้เวลาว่างของแต่ละคนแตกต่างกัน  เช่น  บางคนชอบนั่งเล่นเฉยๆ  ชมธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว  บางคนชอบดูหนัง  บางคนชอบฟังเพลง  บางคนชอบ เดินซื้อของหรือบางคนอาจชอบคุย  แต่การใช้เวลาว่างที่คุ้มค่าที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ  การอ่านหนังสือ  หยิบหนังสือดี ๆ  สักเล่มให้กับชีวิตอ่านแล้วทำให้ปัญญางอกงาม  เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม และยังช่วยให้ผู้ใช้ห้องสมุดพอใจที่จะอ่านหนังสือต่างๆ โดยไม่รู้จักจบสิ้นจากเล่มหนึ่งไปสู่อีกเล่มหนึ่ง
            2.4  ห้องสมุดช่วยให้ผู้ใช้มีความรู้ทันสมัย  ทันเหตุการณ์อยู่เสมอ  เพราะผู้ใช้ห้องสมุดเป็นประจำจะเป็นผู้ที่รู้ข่าวความเคลื่อนไหวทั้งภายในและภายนอกประเทศ
            2.5  ห้องสมุดช่วยให้ผู้ใช้มีนิสัยรักการอ่าน  การค้นคว้า  และใฝ่หาความรู้ด้วยตนเอง  เพราะห้องสมุดเป็นแหล่งบริการข้อมูล  ข่าวสาร  จัดให้มีบริการช่วยการค้นคว้า  และเสนอแนะการอ่านผู้ซึ่งสามารถขยายขอบเขตการอ่าน  การศึกษาค้นคว้าให้กว้างขวางออกไปได้มากขึ้นก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด  กระตุ้นให้รักการอ่านและการศึกษาค้นคว้า
            2.6  ห้องสมุดเป็นสมบัติของส่วนรวม  ซึ่งผู้ใช้บริการจะต้องรับรู้กฎระเบียบและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด  รับรู้ถึงสิทธิและหน้าที่ที่พึงมีพึงปฏิบัติต่อส่วนรวม  จึงเป็นการปลูกฝังความเป็นประชาธิปไตยในตัวบุคคลเป็นอย่างดี
2.7  ห้องสมุดช่วยให้ผู้ใช้ห้องสมุดมีความเพลิดเพลิน  ซึ่งนับว่าเป็นการพักผ่อนทางอารมณ์ ของผู้ใช้ห้องสมุดวิธีหนึ่งด้วย
3.  ประโยชน์ของห้องสมุด
            ห้องสมุดเป็นแหล่งที่จัดหา  รวบรวมทรัพยากรสารนิเทศ  อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวบุคคลและสังคมในด้านต่าง ๆ  ดังต่อไปนี้
            1.  ด้านการเรียนการสอน
            2.  ด้านการค้นคว้าวิจัยเพื่อให้เกิดความรู้ใหม่
            3.  ด้านศิลปวัฒนธรรม  (สะสมความคิด  วัฒนธรรม  มรดกของชาติ)
            4.  ด้านการดำรงชีวิต
            5.  ด้านเศรษฐกิจ (ช่วยประหยัดในการค้นหาความรู้  สร้างอาชีพให้คน)
            6.  ใช้ข้อมูลในการตัดสินใจได้อย่างถูกต้องเหมาะสม   
4.  องค์ประกอบของห้องสมุด
            ห้องสมุดจะดำเนินการอยู่ได้ต้องมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
            4.1  สถานที่  สำหรับใช้จัดเก็บหนังสือและโสตทัศนวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ  และใช้ดำเนินงานในการจัดให้บริการแก่ผู้ใช้ได้อย่างสะดวก  ห้องสมุดอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของอาคารหรือเป็นอาคารเอกเทศก็ได้  ขึ้นอยู่กับจำนวนของทรัพยากรสารนิเทศ  วัสดุอุปกรณ์  และผู้ใช้บริการว่ามีมากน้อยเพียงใด
            4.2   ทรัพยากรห้องสมุด ต้องมีจำนวนมากพอและใหม่ทันสมัยอยู่เสมอ  คัดเลือกให้เหมาะสมกับผู้ใช้  มีการจัดเก็บไว้อย่างเป็นระบบ  ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถเลือกใช้ค้นหาข้อมูลได้อย่างสะดวกรวดเร็ว  มีการดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพดีและพร้อมที่จะใช้งานได้ตลอดเวลา
            4.3  บรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ห้องสมุดต้องมีบรรณารักษ์วิชาชีพเป็นผู้ดำเนินการบริหารและจัดการให้การดำเนินงานห้องสมุดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีเจ้าหน้าที่อื่น ๆ  เพียงพอ ที่จะช่วยในงานจัดหา  จัดเตรียมหนังสือให้ยืม  งานพิมพ์  งานจัดเก็บสิ่งพิมพ์  งานบริการ  และงานอื่น ๆ ของห้องสมุด
            4.4  งบประมาณ  ห้องสมุดต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณเพียงพอสำหรับการจัดซื้อหนังสือและสื่ออื่น ๆ วัสดุอุปกรณ์  เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ  ในการจัดบริการของห้องสมุดและต้องได้รับงบประมาณอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี
5.  วัตถุประสงค์ของห้องสมุด 
            โดยทั่วไปการจัดบริการห้องสมุดจะมีวัตถุประสงค์โดยรวม  ดังนี้
            5.1  เพื่อการศึกษา  (Education)  การศึกษาในปัจจุบันมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  เพราะฉะนั้นการเรียนทุกระดับชั้นตั้งแต่อนุบาล  ประถมศึกษา  มัธยมศึกษาจนถึงอุดมศึกษา  ผู้เรียนจึงจำเป็นต้องศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจากทรัพยากรสารสนเทศต่าง ๆ  ในห้องสมุดเพื่อให้เกิดความรู้อย่างกว้างขวาง  ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น  ส่วนการศึกษานอกระบบหรือผู้ที่ไม่ได้ศึกษาถึงขั้นสูงสุดก็สามารถใช้ห้องสมุดเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าเพื่อพัฒนาตนเอง  พัฒนาอาชีพได้ตลอดชีวิต  เพราะห้องสมุดเปรียบเสมือนห้องเรียนขนาดใหญ่ที่ผู้ใช้สามารถเข้าไปค้นหาคำตอบที่ต้องการได้
            5.2  เพื่อให้ความรู้  ข้อมูล  ข่าวสาร  (Information)  ห้องสมุดได้จัดเก็บทรัพยากรสารสนเทศประเภทหนังสือพิมพ์  วารสาร  นิตยสาร  ในทุกสาขาวิชาเพื่อให้ผู้ใช้ติดตามข่าว  ความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ปัจจุบัน  และความก้าวหน้าทางวิชาการในแต่ละสาขาวิชาชีพ  จึงเป็นการสนองความต้องการอย่างไม่มีที่สิ้นสุด  และห้องสมุดยังได้จัดหาทรัพยากรสารนิเทศที่ดีและใหม่ทันสมัยอยู่ตลอดเวลามาไว้ให้บริการ  ผู้ใช้จึงได้ทั้งความรู้และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  อีกทั้งยังสามารถติดตามข่าวความเคลื่อนไหวและเหตุการณ์ต่างๆ  ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและนอกประเทศทั่วโลก
            5.3  เพื่อการค้นคว้าวิจัย  (Research)  ห้องสมุดเป็นสถานที่จัดเก็บทรัพยากรสารสนเทศประเภทสถิติ  รายงานการวิจัยและหนังสืออ้างอิง  เพื่อที่จะอำนวยความสะดวกต่อการค้นคว้าวิจัยของนักวิจัยในสาขาต่าง ๆ  ซึ่งได้จัดหา  รวบรวมสารนิเทศที่เกี่ยวข้องกับโครงการ  โครงงาน  ผลการค้นคว้าวิจัยที่เกิดขึ้นใหม่  และสิ่งประดิษฐ์ทั้งหลายที่มีผู้จัดทำไว้แล้ว  ไว้สำหรับให้ผู้ที่สนใจนักการศึกษา  นักวิจัยได้ศึกษาค้นคว้า  และส่งเสริมให้เกิดงานค้นคว้าวิจัยชิ้นใหม่ ๆเกิดความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการในสาขาต่าง ๆ  เพื่อเป็นการเสริมสร้างความงอกงามทางด้านวิชาการต่อไป ในอนาคต
            5.4  เพื่อให้เกิดความจรรโลงใจ  (Inspiration)   ทรัพยากรสารสนเทศในห้องสมุดนอกจากจะให้ความรู้ทางวิชาการแล้ว  ยังได้รวบรวมสะสมความรู้สึกนึกคิดที่สร้างสรรค์ความดีงาม  ซึ่งได้แก่  ทรัพยากรสารสนเทศประเภท  ปรัชญา  จิตวิทยา  ศิลปะ  ศาสนา  วรรณคดี  บทประพันธ์ต่างๆ  ชีวประวัติ  สารคดีท่องเที่ยว  ซึ่งเมื่อผู้อ่านได้อ่านแล้วจะทำให้เกิดความสุขทางใจ  เกิดความรู้สึก       ชื่นชมและประทับใจในความคิดที่ดีงาม  เกิดความซาบซึ้งประทับใจในเรื่องราวที่อ่าน  มองเห็นคุณค่าของความดีงาม  ได้คติชีวิตจนสามารถยกระดับจิตใจและเกิดการพัฒนาตนเองไปในทางที่ดีมีความสำเร็จในชีวิตอันเป็นประโยชน์ต่อบุคคลและสังคม
            5.5  เพื่อนันทนาการหรือพักผ่อนหย่อนใจ  (Recreation)  ทรัพยากรสารสนเทศในห้องสมุดนั้นนอกจากจะมีเนื้อหาทางด้านวิชาการแล้วยังมีหนังสือประเภทนวนิยาย  เรื่องสั้น  นิตยสาร  เพื่อให้ผู้อ่านได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน  และห้องสมุดยังได้จัดหาสื่อที่เรียกว่า  Edutainment  (สื่อที่ให้ทั้งความรู้  ความคิด  การศึกษาด้านวิชาการ  และความบันเทิงไปพร้อม ๆ กัน)  เพื่อให้ผู้ใช้ห้องสมุดได้รับความสุข  ความเพลิดเพลินจากการอ่าน  การดูและการฟัง  เช่น  วีดิทัศน์  ฟังเพลง  ดูหนังสารคดี  ดูการ์ตูน  ดูภาพล้อ  เป็นต้น
6.  ประเภทของห้องสมุด
            ห้องสมุดเป็นสถาบันสารสนเทศอันดับแรกที่เก่าแก่และคุ้นเคยเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย  โดยแบ่งตามเป้าหมายในการให้บริการ   แบ่งออกเป็น  5  ประเภท  ดังนี้
            6.1  ห้องสมุดโรงเรียน  (School  Libraries)  คือ  ห้องสมุดที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนในโรงเรียน  ตั้งแต่ระดับอนุบาล  ระดับประถมศึกษา  และระดับมัธยมศึกษา  มีทรัพยากรสารสนเทศเกี่ยวกับการเรียนการสอนตามหลักสูตร  และนอกเหนือหลักสูตรให้มีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายของหลักสูตร  เป็นแหล่งปลูกฝังการมีนิสัยรักการอ่านและใฝ่หาความรู้ด้วยตนเองให้แก่เยาวชน  สามารถใช้เป็นพื้นฐานในการใช้ห้องสมุดและแหล่งสารสนเทศอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ขนาดของห้องสมุดโรงเรียนจะเล็กหรือใหญ่โตเพียงใด  ขึ้นอยู่กับจำนวนนักเรียนในโรงเรียนและจำนวนหนังสือในห้องสมุด  ห้องสมุดควรจัดไว้ในที่ที่อยู่เป็นศูนย์กลางของนักเรียนและครู  เพื่อจะได้เข้าใช้บริการได้สะดวก   ซึ่งจะเพาะนิสัยในการอ่านและการค้นคว้าให้แก่นักเรียน  ห้องสมุดโรงเรียนควรจัดดังนี้
                    6.1.1  สนับสนุนให้เด็กรักการอ่านหนังสือ  เด็กต้องอ่านหนังสือเป็น  ครูรู้จักเลือกอ่านหนังสือที่ดีและอ่านแล้วรู้จักคิดวิเคราะห์ได้
                    6.1.2  ฝึกให้เด็กรู้จักค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง  เพราะหนังสือสนองความต้องการได้ทั้งความรู้  สติปัญญา  การสังคม  การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์  และได้ความสนุกเพลิดเพลินเด็กต้องรู้จักเลือกอ่าน  และแสวงหาความรู้เองแทนที่จะคอยเรียนรู้จากครูเท่านั้น
                    6.1.3  ส่งเสริมให้เด็กมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องราวต่าง ๆ  รอบตัวอย่างกว้างขวางขึ้น  เข้าใจคนที่แวดล้อม  เข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ของผู้อื่นตั้งแต่เล็ก ๆ  เท่าที่จะสามารถเข้าใจได้เพราะมนุษย์แต่ละคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมจะอยู่โดดเดี่ยวไม่ได้  ทุกคนมีสิ่งแวดล้อม  มีครอบครัวญาติมิตรและคนอื่น ๆ  ที่เราต้องพบปะเกี่ยวข้องด้วย  จะทำให้เด็กเกิดความเห็นใจ  เข้าใจและรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น  เป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีในอนาคต  และดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคมอย่างเป็นสุข  เช่น  อ่านหนังสือพิมพ์ได้ทราบข่าวความเคลื่อนไหว  รู้เหตุการณ์ต่างๆ ที่ทันสมัยทันโลก  หนังสือชีวประวัติ  และนวนิยายช่วยให้เข้าใจผู้อื่น  อ่านหนังสือภูมิศาสตร์ได้รู้โลกกว้างขวางขึ้นทำให้จิตใจเด็กตื่นตัวอยู่เสมอ  มีความอยากรู้อยากเห็นในทางที่เหมาะสมและถูกต้อง  ช่วยให้เด็กค้นพบตนเองว่าต้องการอะไร  มีความถนัดและชอบสิ่งใดบ้าง
                    6.1.4  ฝึกให้เด็กรู้จักรักความสวยงาม  ฝึกความเป็นระเบียบ  และมีวินัยโดยการจัดหาต้นไม้  ดอกไม้ประดับ  ม่าน   หรือภาพสวยงามไว้ตกแต่งเพื่อแลดูสวยงามสบายตา  หนังสือสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ จัดวางเป็นระเบียบบนชั้น  โต๊ะ  เก้าอี้  สะอาดจัดวางเข้าที่เรียบร้อยไม่เกะกะช่วยฝึกให้เด็กเป็นคนมีระเบียบ  กฎข้อบังคับของห้องสมุด  ซึ่งเด็กต้องปฏิบัติตามจะฝึกให้เด็กรู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่น  รู้จักหน้าที่ของตนเองที่พึงปฏิบัติ  รู้จักระวังรักษาสมบัติของส่วนร่วมและฝึกการมีมารยาทในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
                    6.1.5  ส่งเสริมการสอนของครู  และการเรียนของเด็ก  โดยจัดหาหนังสือและโสตทัศนวัสดุ
ต่าง ๆ  ดังนี้
                    6.1.5.1  จัดหาให้สอดคล้องกับการเรียนการสอนตามหลักสูตร  ทั้ง 8 สาระการเรียนรู้
                    6.1.5.2  จัดหาหนังสืออ่านเพิ่มเติมนอกเวลา
                    6.1.5.3  จัดหาหนังสือสารคดีต่างๆ  ที่ไม่ยากจนเกินไป  หนังสือทางด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์  และการท่องเที่ยวประเทศต่าง ๆ  หนังสือวรรณคดี
                     6.1.5.4  จัดหาหนังสืออ้างอิงต่าง ๆ เช่น  พจนานุกรม  สารานุกรม  ฯลฯ
                     6.1.5.5  จัดหาหนังสือความรู้ทั่วไป  หนังสือที่ช่วยให้รู้จักคิด  รู้จักประพฤติตนช่วยให้เด็กปรับแนวความคิด  และบุคลิกลักษณะของตน  หนังสือที่แนะนำเรื่องกิริยามารยาท  รู้สิ่ง ที่ควรประพฤติหรือสิ่งที่ไม่ควรประพฤติ  ชี้แนะแนวทางแก้ไขนิสัยที่ไม่ดีบางประการ  เพราะเด็กในวัยนี้กำลังอยู่ในระยะสร้างอุปนิสัย  ยังไม่เข้าใจชีวิตและสิ่งแวดล้อมเพียงพอ
                                6.1.5.6  จัดหาหนังสือทางศาสนา  หนังสือชีวประวัติ  และนวนิยายบางเล่มที่มีส่วนในการจูงใจเด็กให้เป็นคนดี  ใฝ่ในทางดี  รู้จักคิดและประพฤติตนได้ถูกต้อง
                                6.1.5.7  จัดหาหนังสือที่แนะแนวในการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์เกี่ยวกับงานอดิเรก  เช่น  การประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้เล็ก ๆ น้อย ๆ  จากวัสดุเหลือใช้  การปลูกไม้ดอกไม้ประดับ  การวาดภาพ  งานเย็บปักถักร้อย  การสะสมสิ่งต่าง ๆ  ทำให้เด็กได้ทราบว่ามีอะไรที่น่าสนใจ
                                6.1.5.8  จัดหาหนังสือที่ให้ความเพลิดเพลินสนุกสนาน  ช่วยให้อารมณ์แจ่มใส  จิตใจเบิกบาน  หายเมื่อยล้าจากการเรียน  เช่น  นิทานต่างๆ  เรื่องชวนขัน
                                6.1.5.9  จัดหาหนังสือสำหรับครู  และสิ่งพิมพ์อื่น ๆ ได้แก่  หลักสูตรใหม่ ๆ  หนังสือแนะนำสถานที่ที่นักเรียนจะเข้าศึกษาต่อ  วารสาร  จุลสาร  และหนังสือพิมพ์
                                6.1.5.10  จัดหาโสตทัศนวัสดุต่าง ๆ  เช่น  ภาพต่าง ๆ  แผนที่  ลูกโลก  แผนผัง  แผนภูมิ  ของเลียนแบบ  เป็นต้น
           6.2  ห้องสมุดวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย  (College  and  University  Libraries)  คือ  ห้องสมุดระดับอุดมศึกษา  ซึ่งตั้งอยู่ในวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ  ปัจจุบันส่วนมากใช้คำว่าสำนักหอสมุด  หรือสถาบันวิทยบริการ  แทนคำว่า  ห้องสมุด  นับได้ว่าเป็นศูนย์รวมของแหล่งข้อมูลที่ใช้ในการค้นคว้าด้านการเรียนการสอน  และการวิจัยของอาจารย์และนักศึกษา  ให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชน  ตลอดจนส่งเสริมทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม  ห้องสมุดมหาวิทยาลัยอาจเป็นห้องสมุดกลางหรือห้องสมุดคณะหรือห้องสมุดเทียบเท่าคณะที่มีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่น  ในสังกัดมหาวิทยาลัยและจะต้องมีวัตถุประสงค์สอดคล้องกับวัตถุประสงค์   และนโยบายของมหาวิทยาลัย  หนังสือ  โสตทัศนวัสดุ  และสื่ออิเล็กทรอนิกส์
            6.3  ห้องสมุดประชาชน  (Public  Libraries)  คือ  ห้องสมุดที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป  ไม่จำกัด  เพศ  วัย  ศาสนา  อาชีพ  และระดับความรู้ในชุมชนท้องถิ่นนั้น ๆโดยไม่เรียกร้องค่าตอบแทนใด ๆ  ไม่ว่าจะเป็นค่าบำรุงห้องสมุด  ค่าเช่าหนังสือ  ทั้งนี้เพราะถือว่าประชาชนได้เสียภาษีให้แก่รัฐแล้วห้องสมุดประชาชนแห่งแรกของไทย  คือ ห้องสมุดวัดพระเชตุพนฯ  หรือ   วัดโพธิ์  ให้บริการส่งเสริมการอ่านแก่ประชาชนในท้องถิ่น  ประชาชนสามารถเลือกรับข้อมูลข่าวสารได้ตามความต้องการได้อย่างอิสรเสรี   ซึ่งในปัจจุบันห้องสมุดประชาชนขยายขอบเขตการให้บริการกว้างขวางออกไป  ขยายสาขาไปยังชุมชนที่ห่างไกล  มีทั้งห้องสมุดประชาชนระดับอำเภอ  ระดับตำบล  จัดบริการห้องสมุดเคลื่อนที่โดยใช้รถยนต์   หรือเรือไปยังที่ต่างๆเป็นการให้บริการที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนแต่ละแห่ง  เพื่อช่วยยกระดับชีวิตและสติปัญญา  ทำให้เป็นพลเมืองดีมีความรับผิดชอบ 
            6.4  ห้องสมุดเฉพาะ (Special Libraries)  คือห้องสมุดที่เก็บรวบรวมสารนิเทศ เพื่อสนองตอบ  ความต้องการของบุคคลเฉพาะสาขาวิชาวิชาใดวิชาหนึ่งและวิชาที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้เฉพาะกลุ่ม  ซึ่งเป็นสมาชิกในหน่วยงานที่ห้องสมุดสังกัดอยู่  และการให้บริการของห้องสมุดเฉพาะนี้จะช่วยส่งเสริมให้กิจการของหน่วยงานนั้นๆ  เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้  ห้องสมุดเฉพาะนี้มักจะสังกัดอยู่ในหน่วยราชการ  องค์การ  บริษัท  สมาคมวิชาชีพ  ธนาคาร  พิพิธภัณฑ์  มหาวิทยาลัย  องค์การระหว่างประเทศ  และหน่วยงานอื่น ๆ  เป็นต้น  สำหรับชื่อห้องสมุดเฉพาะมีชื่อแตกต่างกันมากกว่าห้องสมุดประเภทอื่น  ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่ห้องสมุดนั้นสังกัด  รวมทั้งลักษณะของการดำเนินงานและการให้บริการ  เช่น  ในปัจจุบันใช้คำว่า  ศูนย์ข่าวสาร  ศูนย์เอกสาร  ศูนย์บริการเอกสาร  เป็นต้น  เช่น  ห้องสมุดคณะต่าง ๆ  ในมหาวิทยาลัย  ห้องสมุดวัดบวรนิเวศฯ  (รวบรวมหนังสือที่ระลึกในโอกาสพิเศษของบุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ)  ห้องสมุดของสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ  ห้องสมุดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  ห้องสมุดสยามสมาคม  ห้องสมุดการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย  ห้องสมุดเนติบัณฑิตยสภา  เป็นต้น  หนังสือที่มีอยู่ในห้องสมุดประเภทนี้มีแต่หนังสือซึ่งเกี่ยวกับหน่ายงานนั้น ๆ  เป็นส่วนใหญ่  เพราะวัตถุประสงค์หลักของห้องสมุดประเภทนี้มีไว้เพื่อช่วยการค้นคว้าและวิจัยในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานเท่านั้น  สิ่งพิมพ์ส่วนมากจะเป็นรายงานเกี่ยวกับการวิจัย  เอกสารของรัฐบาล  รายงานทางวิชาการของสมาคมซึ่งสิ่งพิมพ์เหล่านี้จะหาได้จากแหล่งผลิตเท่านั้นไม่มีวางจำหน่ายทั่วไป  โดยทั่วไปจะให้บริการ แก่บุคลากรของหน่วยงาน หรือนักศึกษาของคณะนั้น ๆ
6.5  หอสมุดแห่งชาติ  (National  Libraries)  คือ  ห้องสมุดประจำชาติหรือประเทศ   หอสมุดแห่งชาติของไทยเดิมชื่อว่า  หอสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร  ปัจจุบันตั้งอยู่    ท่าวาสุกรี ถนนสามเสน  สร้างขึ้นในสมัยรัฐบาลจอมพล  สฤษดิ์  ธนะรัชต์  วางศิลาฤกษ์เมื่อ  พ.ศ.  2506  เปิดให้ประชาชนเข้าใช้บริการ  ตั้งแต่วันที่ พฤษภาคม  พ.ศ.  2509  มีฐานะเป็นสำนักหอสมุดแห่งชาติ  สังกัดกรมศิลปกรกระทรวงศึกษาธิการ  เปิดบริการให้ประชาชนเข้าอ่านได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 9.30-19.30 น. เว้นวัดหยุดราชการและวันนักขัตฤกษ์  แต่ไม่อนุญาตให้ยืมทรัพยากรสารนิเทศออกนอกห้องสมุด  หอสมุดแห่งชาติเก็บรวบรวมสิ่งพิมพ์ที่พิมพ์ขึ้นภายในประเทศไว้อย่างสมบูรณ์  และอนุรักษ์ให้คงทนถาวร  จัดให้ใช้ประโยชน์ในด้านประกอบการค้นคว้าวิจัย  หอสมุดแห่งชาติจะต้องได้รับสิ่งพิมพ์ทุกเล่มที่พิมพ์ขึ้นภายในประเทศตามกฎหมาย เก็บรวบรวมทรัพยากรสารนิเทศทุกชนิดโดยเฉพาะทรัพยากรสารนิเทศที่ผลิตในประเทศนั้นๆ  จัดทำบรรณานุกรมทรัพยากรสารนิเทศแห่งชาติ  กำหนดเลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ  (ISBN = International  Standard  Book  Number)  ส่วนบรรณานุกรม  ประเภทอื่น ๆ  ที่หอสมุดแห่งชาติจัดทำ  ได้แก่  บรรณานุกรมเฉพาะวิชา  บรรณานุกรมผู้แต่ง  โดยจะทำเฉพาะผู้แต่งที่มีชื่อเสียง  และแต่งหนังสือไว้หลายชื่อ   และนอกจากนี้หอสมุดแห่งชาติยังมีหน้าที่รวบรวมสารนิเทศที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย  ซึ่งผลิตที่ต่างประเทศ  รวบรวมสิ่งพิมพ์ที่มีคุณค่า  มีราคาสูงทั้งของไทยและของต่างประเทศ  ซึ่งห้องสมุดอื่นไม่มี
            หนังสือและสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ในหอสมุดแห่งชาตินั้นได้รับมาจากหลายทาง  เช่น  หนังสือที่พิมพ์ในประเทศไทย  จะได้รับตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ที่ระบุไว้ว่า  “บรรดาหนังสือที่มีกรรมสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติ  ผู้มีกรรมสิทธิ์จะต้องมอบให้เพื่อเก็บรักษาไว้ในหอสมุดแห่งชาติ  2 ฉบับ”  อีกทั้งยังได้จัดหาหนังสือประเภทมีคุณค่าหายาก  มีราคาแพงจากต่างประเทศทั่วโลก  อาจจัดหาโดยวิธีการซื้อด้วยเงินงบประมาณของหอสมุด  หรือแลกเปลี่ยนกับหน่วยงานราชการ  ห้องสมุด และสมาคมต่าง ๆ  ในต่างประเทศหรือมีผู้บริจาคให้  จึงทำให้หอสมุดแห่งชาติมีหนังสือสำคัญต่าง ๆ อยู่เป็นจำนวนมากและมีหนังสือหลากหลายภาษา  อีกทั้งยัง